กรุณาใช้ตัวระบุนี้เพื่ออ้างอิงหรือเชื่อมต่อรายการนี้: http://ir.sru.ac.th/handle/123456789/1070
ชื่อเรื่อง: ปัญหาทางกฎหมายในการกำหนดชั้นของนักโทษเด็ดขาดประเภทคดีอุกฉกรรจ์
ชื่อเรื่องอื่นๆ: Legislative Problems in Determining Classification of Absolute Prisoners for Serious Offences
ผู้แต่ง/ผู้ร่วมงาน: ไพฑูรย์ ขำเอี่ยม
อัคคกร ไชยพงษ์
คำสำคัญ: นักโทษเด็ดขาด
นักโทษเด็ดขาดคดีอุกฉกรรจ์
การจัดชั้นนักโทษเด็ดขาด
วันที่เผยแพร่: 10-มิถ-2567
สำนักพิมพ์: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
แหล่งอ้างอิง: การค้นคว้าอิสระนิติศาสตรมหาบัณฑิต
บทคัดย่อ: การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) ปัญหาการกำหนดชั้นนักโทษของนักโทษเด็ดขาดในคดีอุกฉกรรจ์รับเข้าใหม่ของประเทศไทย 2) แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดและการคุ้มครองสิทธิของนักโทษเด็ดขาด 3) มาตรการการจัดชั้นนักโทษเด็ดขาดรับเข้าใหม่จากกฎหมายของประเทศไทย กฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายของต่างประเทศ และ 4) เสนอแนะแนวทางการพัฒนาการกำหนดชั้นของนักโทษเด็ดขาดในคดีอุกฉกรรจ์รับเข้าใหม่ของประเทศไทย เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากกฎหมาย หนังสือ ตำรา บทความวิชาการ คำพิพากษาของศาล โดยนำข้อมูลจากการศึกษามาวิเคราะห์สังเคราะห์ และเรียบเรียงในรูปแบบพรรณนาความ ผลการศึกษาพบว่า 1) พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 40 ประกอบกฎกระทรวงกำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาดและเงื่อนไขที่นักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกหรือการพักการลงโทษและได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ พ.ศ. 2562 ข้อ 3 กำหนดแบ่งชั้นนักโทษเด็ดขาดออกเป็น 6 ชั้น ได้แก่ (1) ชั้นเยี่ยม (2) ชั้นดีมาก (3) ชั้นดี (4) ชั้นกลาง (5) ชั้นต้องปรับปรุง และ (6) ชั้นต้องปรับปรุงมาก โดยกระบวนการจัดชั้นนักโทษเด็ดขาดกรณีนักโทษเด็ดขาดรับเข้าใหม่ในคดีอุกฉกรรจ์ อาทิ นักโทษเด็ดขาดในความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย หรือการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดที่ศาลถึงที่สุดให้จำคุกตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป เป็นต้น กฎกระทรวงกำหนดให้จัดอยู่ในนักโทษชั้นต้องปรับปรุงมากทั้งสิ้น อันเป็นการจัดชั้นนักโทษด้วยระบบเหมารวมตามที่กฎหมายกำหนด โดยไม่มีการศึกษาถึงประวัติภูมิหลังแต่อย่างใด ซึ่งมีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนในการได้รับการเลื่อนชั้นนักโทษเด็ดขาด 2) ทฤษฎีการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขพฤตินิสัยของผู้กระทำผิด โดยกำหนดหลักการให้อาศัยกระบวนการตรวจสอบสาเหตุปัญหา และวิเคราะห์ข้อมูลที่นำไปสู่การกระทำความผิด เพื่อจำแนกผู้กระทำความผิดให้เข้าสู่กระบวนการแก้ไขฟื้นฟูตามลักษณะของการกระทำผิดอย่างเหมาะสม 3) กระบวนการในการจำแนกหรือจัดชั้นผู้ต้องขังนั้น ข้อกำหนดแมนเดลลา ข้อ 51 ได้ระบุกำหนดไว้อย่างชัดแจ้งให้งานราชทัณฑ์มีการนำเอาประวัติด้านอาชญากรรมและรวมถึงเหตุผลในทางคดีที่นำมาสู่การต้องโทษจำคุกมาใช้ประกอบการพิจารณาจำแนกผู้ต้องขัง ซึ่งวิธีการจัดชั้นนักโทษเด็ดขาดรับเข้าใหม่ของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยประมวลกฎหมายแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย มาตรา 3375 กำหนด ให้กรมราชทัณฑ์ โดยศูนย์ทวนสอบประวัติ จะต้องนำระบบการศึกษาผู้ต้องขังเป็นรายบุคคลด้วยวิธีการประเมินผลคะแนนนักโทษเด็ดขาดรับเข้าใหม่ในการจัดชั้นนักโทษเด็ดขาดอย่างเป็นระบบ ทำให้นักโทษเด็ดขาดรับเข้าใหม่ จะได้รับการจัดชั้นนักโทษเด็ดขาดตามผลการประเมินเป็นสำคัญ และ 4) ผู้ศึกษาจึงมีข้อเสนอแนะให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาดและเงื่อนไขที่นักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกหรือการพักการลงโทษและได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ พ.ศ. 2562 ข้อ 3 ให้นำเอาระบบการศึกษาผู้ต้องขังเป็นรายบุคคลมาใช้ในการจำแนกและจัดชั้นนักโทษเด็ดขาดรับเข้าใหม่ ด้วยวิธีการประเมินระดับคะแนนนักโทษเด็ดขาดโดยศูนย์ทวนสอบประวัติตามแบบอย่างที่ใช้บังคับอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา มลรัฐแคลิฟอร์เนีย
รายละเอียด: บทความ, การค้นคว้าอิสระนิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
URI: http://ir.sru.ac.th/handle/123456789/1070
ปรากฏในกลุ่มข้อมูล:Laws : Independent Study (IS)

แฟ้มในรายการข้อมูลนี้:
แฟ้ม รายละเอียด ขนาดรูปแบบ 
is Paitoon_Law67.pdfบทความ, การค้นคว้าอิสระนิติศาสตรมหาบัณฑิต241.3 kBAdobe PDFดู/เปิด


รายการทั้งหมดในระบบคิดีได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ มีการสงวนสิทธิ์เว้นแต่ที่ระบุไว้เป็นอื่น